วันทานาบาตะสำหรับใครที่ชอบดูการ์ตูนหรือซีรี่ย์ญี่ปุ่นคงจะเคยได้เห็นผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้วอย่างแน่นอนครับ วันนี้ถือเป็นวันที่ออกจะมีความหมายและน่าดึงดูดใจพอสมควรสำหรับทั้งคนญี่ปุ่นหรือแม้แต่นักเที่ยวที่มาเที่ยวญี่ปุ่นเองก็ตาม แต่ประวัติของวันนี้มีที่มาอย่างไรไปดูกันเลยครับ
สำหรับวันทานาบาตะหรือเทศกาลทานาบาตะนั้นจะตรงกับวันที่ 7 ของเดือนกรกฏาคมในทุกๆปี โดยตำนานหรือจุดเริ่มต้นของทานาบะตะต้องเล่าย้อนไปมากกว่า 2,000 ปี ซึ่งเรื่องราวที่โรแมนติกแต่ก็น่าเศร้านั้นมีอยู่ว่าดวงดาวทั้งหลายต่างมีหน้าที่ของตัวเอง และครั้งหนึ่งมีเจ้าหญิงทอผ้าชื่อโอริฮิเมะ (Orihime) หรือดาวเวก้า (Vega) ที่เป็นดาวซึ่งเปล่งแสงสดใสที่สุดในกลุ่มดาวพิณ จนวันหนึ่งเจ้าหญิงทรงมาพบรักกับเจ้าชายคนเลี้ยงวัวชื่อ ฮิโกโบชิ (Hikoboshi) หรือดาวอัลแตร์ (Altair) แห่งกลุ่มดาวอินทรีย์ เมื่อความรักเกิดขึ้นก็ทำให้ทั้ง 2 องค์เกิดหน้ามืดลุ่มหลงอยู่ในความรักที่มีให้แก่กันและกันจนต่างก็ลืมหน้าที่ของตัวเองคือการทอผ้าและการเลี้ยงวัว และแล้วความผิดครั้งนี้ก็ไม่อาจหลุดลอดสายตาล่วงรู้ไปถึงเทพสูงสุดของสวรรค์ซึ่งก็เป็นพระบิดาของเจ้าหญิง ทั้งคู่อาศัยอยู่บนสวรรค์ หลังจากที่ทั้งสองพบรักกันก็มัวแต่หลงระเริงจนไม่ทำหน้าที่ของตนเองคือทอผ้าและเลี้ยงวัว เรื่องราวความลุ่มหลงในความรักจนลืมหน้าที่ของตนเองได้ไปถึงหูของกษัตริย์แห่งสวรรค์ผู้เป็นบิดาของเจ้าหญิงโอริฮิเมะด้วย แม้ว่าจะได้ทำการตักเตือนแต่ทั้งคู่ก็ยังคงทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในที่สุดเทพสูงสุดของสวรรค์จึงไม่อาจทนได้อีกต่อไปจึงจัดการแยกทั้งคู่ให้ไปอยู่กันคนละฟากฟ้าเลยทีเดียว โดยมีทางช้างเผือกหรือแม่น้ำแห่งสวรรค์ที่มีชื่อว่า “อะมาโนะกะวา” (Amanogawa) กั้นทั้ง2คนเอาไว้ แต่ก็ยังทรงมีเมตตาอยู่บ้างด้วยการอนุญาตให้โอริฮิเมะและโกโบชิสามารถมาพบกันได้ในทุกวันที่ 7 เดือน 7 นี่เอง ซึ่งครั้งแรกของการที่จะได้มาพบกันนั้นเจ้าหญิงโอริฮิเมะไม่สามารถข้ามแม่น้ำสวรรค์หรือทางช้างเผือกไปพบกับเจ้าชายได้ ทำให้ทรงกรรแสงอย่างหนักทำให้บรรดาเหล่านกกางเขนเกิดความสงสารจึงได้อาศัยปีกของตนเองมาต่อกันเป็นสะพานให้เจ้าหญิงเดินผ่านแม่น้ำไปได้ แต่ปัญหาต่อมาก็คือหากว่าปีใดที่มีในตกหนักๆจะทำให้นกกางเขนออกมาช่วยเจ้าหญิงไม่ได้ชาวญี่ปุ่นจึงช่วยกันภาวนาว่าให้ท้องฟ้าในวันที่7 เดือน 7 นั้นสดใสไม่มีฝนมาเป็นอุปสรรคนั่นเอง
กิจกรรมต่างๆในช่วงเทศกาลทานาบาตะ
สิ่งที่เราจะพบเห็นในวันทานาบาตะนั้นนั่นก็คือทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะเขียนคำอธิษฐานของตนเองเอาไว้บนกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆซึ่งเรียกว่า ทังซะคุ「短冊」จากนั้นก็จะนำกระดาษเอาไปแขวนไว้บนกิ่งไผ่ ที่ประดับไปด้วยของที่ทำมาจากกระดาษต่างๆ เช่น กิโมโนกระดาษเพื่อกำจัดเอาความโชคร้ายออกไป หรือกระเป๋ากระดาษเพื่อทำให้ปัญหาทางการเงินหายไป การทำงานประสบความสำเร็จ ใครทำการค้าก็ค้าขายดีเป็นต้น แต่ถ้าหากพับเป็นรูปนกกระเรียนก็จะเป็นการสื่อถึงการทำให้คนในครอบครัวมีอายุที่ยาวนานนั่นเอง นอกจากนี้บ้านไหนทำการเกษตรก็จะทำเป็นตะข่ายกระดาษเพื่อทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีอย่างที่ต้องการ โดยคุณจะสามารถพบเห็นของเหล่านี้ได้ทในที่ต่างๆ เช่น ทางเข้าบ้าน ทางเข้าโรงเรียนหรือสถานที่สำคัญต่างๆ ด้วย
หากว่าใครมาเที่ยวโตเกียวในช่วงทานาบาตะนั้นก็จะเห็นคนส่วนใหญ่จะประดับกิ่งไผ่ด้วยเพียงกระดาษทังซะคุในขณะที่โรงเรียนประถมต่างๆก็จะให้เด็กๆเขียนคำอธิษฐานไว้บนกิ่งไผ่แล้วก็เอาไปประดับไว้ที่หน้าอาคารเรียน หรือการจัดกิจกรรมพับกระดาษให้เด็กๆนำไปประดับที่บ้านด้วย
เทศกาลทานาบาตะในเมืองต่างๆ
ไม่เฉพาะแค่ในโตเกียวเท่านั้นในช่วงเทศกาลทานาบาตะประมาณ 2-3 วัน ระหว่างวันที่ 7 เดือนกรกฏาคม ในหลายเมืองก็มีการจัดงานอย่างครึกครื้น เช่น
- เมืองเมืองฮิราซึกะ (Hirasuka) ของจังหวัดคานะกาวะ (Kanagawa) ในเทศกาลนี้ก็จะมีการประดับเอาสายรุ้งและกิ่งไผ่ประดับนำมาติดตามถนนสายหลักของเมือง และที่สำคัญยังมีการแห่ขบวนพาเหรดสร้างสีสันและช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
- เมืองเซนได (Sendai) ของจังหวัดมิยากิ (Miyaki) จะมีการจัดงานในวันที่ 6-8 เดือนสิงหาคมของทุกปี ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าใกล้เคียงกับวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังเป็นต้อนรับเทศกาลที่ชื่อว่าโอบง (Obon) โดยเทศกาลโอบงนี้ตามความเชื่อโบราณของคนญีุ่ปุ่นบอกว่าเป็นเวลาที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะกลับมาเยี่ยมบ้าน
นอกจากนี้เทศกาลทานาบาตะก็เหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของการเข้าสู่ฤดูร้อนของญี่ปุ่นและเป็นสัญญาณว่าการสอบปลายภาคและการปิดเทอมมาถึงแล้วนั่นเอง
Photos :
en.wikipedia.org
www.japan-guide.com
www.city.hiratsuka.kanagawa.jp.e.di.hp.transer.com
www.pinterest.com
mackensieleigh.wordpress.com
emberette.tumblr.com