รู้จักกับ เอะมะ ema ไปรษณีย์ถึงเทพเจ้า

             คนที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นมาแล้วไปเที่ยวตามศาลเจ้าต่างๆนั้นก็คงจะเห็นบริเวณหนึ่งของศาลเจ้าที่มีการเอาแผ่นไม้เล็กๆแขวนอยู่และมีตัวอักษรเขียนลงไปในแผ่นไม้นั้นกันใช่มั๊ยครับ

              หรือแม้แต่คนที่ดูการ์ตูนหรือหนังญี่ปุ่นก็คงจะผ่านตากันมาอย่างแน่นอน ซึ่งหลายคนก็คงจะรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นการเขียนคำอธิษฐานหรือความต้องการของตนเองลงไปเพื่อขอพรให้สำเร็จนั่นเอง แต่ทีนี้เรามาลองดูความหมายแบบลึกซึ้งหรือที่มาของแผ่นไม้อันนี้ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เอะมะ หรือ ema (絵馬)   แปลความหมายก็คือ “ภาพม้า” นั่นเอง

            เอะมะเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น  แต่เหตุใดถึงได้แปลว่าภาพม้าหรือภาพของม้า ? คำตอบก็คือ ในสมัยก่อนนั้นคนญี่ปุ่นที่จะมาขอพรจากเทพเจ้าที่ศาลเจ้าต่างๆนั้นจะนิยมนำม้าที่มีสีขาวเพื่อเอามาถวายให้เทพเจ้าที่สถิตอยู่ เพราะความเชื่อของคนที่นี่เชื่อกันว่าม้านั้นเป็นสัตว์ที่มีความพิเศษตรงที่ใช้เป็นสื่อระหว่างคนกับเทพเจ้าได้นั่นเอง(คงคล้ายๆกับสุนัขจิ้งจอก) แต่ว่าในภายหลังนั้นประเพณีหรือความเชื่อเรื่องที่ว่าจะต้องนำม้าสีขาวมาถวายก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นการถวายม้าที่ทำมาจากไม้หรือการวาดรูปม้าลงบนไม้แทน ท้ายที่สุดก็มาเป็นการเขียนคำอธิษฐานลงไปอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับ

           คำว่า “เอะมะ” นั้นก็เป็นการผสมกันระหว่างกคำว่า “เอะ”( 絵) ที่แปลว่า รูปภาพ และ “มะ” (馬) ซึ่งก็แปลว่า ม้า ดังนั้น เมื่อเอาทั้ง 2 คำมารวมกันจึงแปลว่า “ภาพม้า” นั่นเองครับ

ema
ema

            แต่ก็ไม่ใช่ว่าแต่จะมีแต่ม้าเท่านั้น เพราะในภายหลังก็มีการนำเอาภาพต่างๆ วาดลงบนแผ่นไม้ เช่น บทสวดมนต์ รูปนักษัตรราศีต่างๆ หรือแม้แต่รูปบุคคล หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเป็นตำนวนหรือเรื่องเล่าของศาลเจ้านั้นๆ   ซึ่งเอะมะ นั้นก็ไม่ใช่แต่ว่าจะเป็นของเพื่อใช้เขียนคำอธิษฐานเท่านั้น คนที่ชอบสะสมของเก่าๆแล้ว เอะมะ ก็เป็นของที่มีมูลค่ามากเช่นกัน เพราะบางภาพก็ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินที่มีชื่อเสียง บางภาพก็เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่และก็ยังมีหลายขนาดอีกด้วย

             นักท่องเที่ยวที่มาใช้เอะมะเพื่อขอพรนั้นก็มีจุดประสงค์หลากหลายต่างกันไป เช่น บางคนก็ขอให้การงาน การเรียนประสบความสำเร็จ บางคนขอเรื่องความรักหรือบางคนก็ขอให้ตนเองและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งก็หาซื้อได้ตามศาลเจ้า ราคาส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ประมาณ 500 เยน  ครับ  ใครมาเที่ยวญี่ปุ่นก็ไม่ควรจะพลาดกับการใช้เอะมะกันนะครับ 

Facebook Comments Box

Related Articles